อักษรวิ่ง

เทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวัน

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

วิธีการทำแผล

การทำแผลขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงของบาดแผล สำหรับแผลที่ไม่รุนแรงหรือมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยอาจทำแผลได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น
การทำแผลด้วยตนเอง
  • ล้างสิ่งสกปรกออกจากแผล และล้างแผลให้สะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ
  • กดห้ามเลือดและยกส่วนที่เกิดแผลให้สูงขึ้น เพื่อให้เลือดหยุดไหล และลดอาการบวม
  • หากเป็นแผลขนาดเล็กอาจไม่ต้องปิดปากแผล แต่ในบางกรณีควรปิดหรือพันด้วยผ้าพันแผลที่ปลอดเชื้อ
  • รักษาความสะอาดและดูแลให้แผลแห้ง บาดแผลที่ไม่รุนแรงอาจฟื้นฟูและหายดีในเวลาไม่กี่วัน
  • หากเจ็บปวดจากบาดแผล อาจรับประทานพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดตามวิธีและปริมาณที่เหมาะสมที่ระบุไว้บนฉลากยา และหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจมีผลทำให้เลือดไหลเพิ่มมากขึ้นหรือนานขึ้นได้
  • อาจประคบน้ำแข็งบริเวณผิวหนังรอบบาดแผลที่เป็นรอยช้ำหรือบวมในระยะแรกที่เกิดบาดแผล
  • รักษาสุขภาพ และพักผ่อนให้เพียงพอ
การทำแผลโดยแพทย์
หากบาดแผลมีความรุนแรง มีการติดเชื้อ หรือควรได้รับการรักษาจากแพทย์ เมื่อไปพบแพทย์ อาจได้รับการรักษาและทำแผลดังต่อไปนี้
  • ล้างทำความสะอาดบาดแผล
  • แพทย์อาจใช้ยาชาทาหรือฉีดบริเวณที่เกิดแผล เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดในขณะทำแผล
  • ในบางกรณี แพทย์อาจต้องเย็บปิดแผลหรือใช้กาวติดผิวหนังบริเวณที่เกิดแผลเข้าด้วยกัน และนัดหมายให้ผู้ป่วยมารับการตัดไหมหรือตรวจแผล 5-10 วันให้หลัง
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยมีบาดแผลและสูญเสียเนื้อเยื่อไปมาก แพทย์อาจพิจารณาไม่เย็บปิดแผลที่เกิดขึ้น แต่จะเปิดแผลทิ้งไว้เพื่อให้แผลสมานตัวตามกลไกธรรมชาติ
  • หลังทำแผลแล้ว แพทย์อาจใช้ผ้าปิดหรือพันรอบแผลไว้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรกเข้าสู่แผลได้
  • ในบางรายที่แผลอาจมีการปนเปื้อน แพทย์อาจให้เปิดแผลไว้ก่อนจนกว่าจะมั่นใจว่าแผลสะอาดดีแล้ว และไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน เพราะการเย็บปิดแผลอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียได้ จากนั้นจึงค่อยเย็บปิดแผล
  • แพทย์อาจฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อบาดทะยัก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีแผลถูกวัตถุปลายแหลมแทงเข้าไปค่อนข้างลึก หรือแผลที่ถูกสัตว์กัด
  • แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลิน หรือยาตัวอื่น ๆ ในกรณีที่แผลมีการติดเชื้อ หรือแผลมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง
  • ในรายที่เนื้อเยื่อมีการติดเชื้อและเกิดความเสียหายบอบช้ำ แพทย์อาจต้องนำเนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อและเนื้อเยื่อบางส่วนในบริเวณใกล้เคียงออกไปด้วย
  • แพทย์อาจต้องผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วยในรายที่มีบาดแผลรุนแรง เช่น เกิดบาดแผลโดยมีชิ้นส่วนอวัยวะร่างกายหลุดออกไป ผู้ป่วยต้องรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที โดยห่ออวัยวะที่หลุดออกด้วยผ้าก๊อซชุบน้ำใส่ในภาชนะปิดสนิทที่สะอาดแล้วแช่ในน้ำแข็งแล้วนำมาโรงพยาบาลด้วย


การดูแลตนเองหลังการทำแผล
  • หลังทำแผลแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเริ่มเกิดกระบวนการอักเสบ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของบาดแผล โดยจะเริ่มมีอาการบวม แดง และเจ็บปวดบริเวณบาดแผล ซึ่งบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ
  • ปิดแผลไว้ หรือรักษาความสะอาดบริเวณที่เกิดแผล ให้แผลแห้งและสะอาดอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้แผลสมานตัวดีและเร็วขึ้น
  • ต้องล้างมือให้สะอาดขณะล้างแผลและเปลี่ยนผ้าพันแผลเสมอ ในบางราย แพทย์จะแนะนำขั้นตอน วิธีการ และความบ่อยในการเปลี่ยนผ้าพันแผลด้วยตนเองที่บ้าน
  • ในรายที่มีแผลรุนแรงและผ่านการผ่าตัดมา ควรรอ 2-4 วันหลังผ่าตัดทำแผลแล้วจึงอาบน้ำได้ หรือสอบถามข้อมูลและคำแนะนำจากแพทย์ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่กลับไปอาบน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการแช่ในอ่างอาบน้ำหรือการว่ายน้ำจนกว่าแผลจะหายดี หรือจนกว่าแพทย์จะอนุญาต เพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ
  • เมื่อแผลเริ่มแห้งและสมานตัว อาจเกิดสะเก็ดแผลและรอยแผลเป็นขึ้น โดยผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาแผลบริเวณที่แห้งและตกสะเก็ด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผิวหนังด้านล่างจนแผลสมานตัวช้าลงไปอีก และป้องกันการเกิดรอยแผลเป็นที่รุนแรงขึ้น
  • หลังแผลหายดี แล้วมีรอยแผลเป็นปรากฏขึ้น ให้นวดหรือทาบริเวณแผลเป็นนั้นด้วยโลชั่นหรือปิโตรเลียมเจลลี่ ซึ่งช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนที่ผิวโดยรอบ เพื่อรักษาบรรเทาความรุนแรงของรอยแผลเป็นที่เกิดขึ้น
  • ป้องกันสัตว์เลี้ยงมาอยู่ใกล้บริเวณที่เป็นแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ผู้ป่วยอายุน้อยจะมีการสมานตัวของแผลเร็วกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจกระทบต่อบาดแผลและกระบวนการสมานอย่างการเล่นกีฬาไปก่อนจนกว่าแผลจะหายดี
  • ในระหว่างที่พักฟื้น ควรรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีน อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสูงอย่างพวกผักผลไม้ และอาหารที่มีเส้นใยสูงอย่างพวกธัญพืช
  • ดูแลรักษาสุขภาพของตน ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และไปพบแพทย์ตามนัดหมายเสมอ


ที่มา:https://www.pobpad.com

ชนิดของบาดแผล


เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิดบาดแผลแตกต่างกันไป จึงทำให้บาดแผลมีลักษณะหลายรูปแบบ เช่น
  • แผลถลอก: ผิวหนังถูกขูดเป็นรอยจากการเสียดสีกับวัตถุหรือพื้นผิวที่แข็ง หยาบ และขรุขระ โดยแผลชนิดนี้มักเป็นแผลตื้น ๆ ที่ไม่ทำให้เลือดไหลซึมออกมามากนัก แต่ผู้ป่วยอาจต้องล้างทำความสะอาดแผล และเช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่เกิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • แผลถูกบาด: เป็นแผลตัดที่เกิดจากการถูกของมีคมบาด เช่น มีด หรือเศษแก้ว โดยแผลมักมีเลือดไหลออกมามากและอย่างรวดเร็ว หากแผลถูกบาดลึกอาจรุนแรงจนสร้างความเสียหายแก่กล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นได้
  • แผลฉีกขาด: มีลักษณะเป็นแผลตัดลึกและมีผิวหนังฉีกขาดขอบไม่เรียบ มักมีเลือดไหลออกมาอย่างรวดเร็วหรือกระจายเป็นบริเวณกว้าง มักเกิดจากอุบัติเหตุในการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรต่าง ๆ
  • แผลถูกแทง: ปากแผลมีลักษณะเป็นช่องขนาดเล็ก เนื่องจากถูกวัตถุปลายแหลมหรือมีความยาวแทงทะลุผิวหนังเข้าไป แม้อาจมีเลือดออกภายนอกไม่มาก แต่อาจสร้างความเสียหายแก่เนื้อเยื่อและอวัยวะภายในได้ เมื่อเกิดแผลลักษณะดังกล่าว แม้แผลจะมีขนาดเล็ก แต่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพื่อให้ตรวจวินิจฉัย และอาจต้องรับวัคซีนป้องกันบาดทะยักและยาป้องกันการติดเชื้อ
  • แผลเนื้อเยื่อฉีกขาดจนหลุดออก: เป็นแผลที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อบางส่วนหรือทั้งหมดฉีกขาดจนหลุดออกมา มักเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง ซึ่งเป็นผลทำให้มีเลือดไหลออกมามากอย่างรวดเร็ว

การทำแผล

ทำแผล




บาดแผลตามร่างกายเกิดขึ้นได้จากการประสบอุบัติเหตุภายนอก เช่น ถูกของมีคมบาด หกล้ม รถชน จนเกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อในบริเวณนั้น แผลมักปรากฏขึ้นเป็นแผลเปิดบริเวณผิวหนัง และมีเลือดไหลหรือซึมออกมาจากบาดแผล หากบาดแผลที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็ก ตื้น หรือไม่รุนแรง ผู้ป่วยก็สามารถล้างทำความสะอาดแผลได้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยอาจใช้ยารักษาแผลสดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร
อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และทำแผลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที หากเกิดแผลในลักษณะดังต่อไปนี้
  • บาดแผลมีขนาดใหญ่ มีความรุนแรง หรือเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง
  • เป็นแผลลึกเกินกว่า 1/2 นิ้ว
  • แผลมีเลือดไหลไม่หยุดแม้พยายามกดห้ามเลือดแล้ว
  • บาดแผลมีเลือดไหลออกมาไม่หยุดอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 20 นาที
เมื่อเกิดบาดแผลขึ้นตามผิวหนัง ผู้ป่วยควรทำแผลหรือเข้ารับการทำแผลอย่างเหมาะสม และดูแลจนกว่าบาดแผลนั้นจะหายดี เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส หรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล จนเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ ซึ่งวิธีการและขั้นตอนในการทำแผลนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของบาดแผล ความกว้าง และความลึกด้วย