เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิดบาดแผลแตกต่างกันไป จึงทำให้บาดแผลมีลักษณะหลายรูปแบบ เช่น
- แผลถลอก: ผิวหนังถูกขูดเป็นรอยจากการเสียดสีกับวัตถุหรือพื้นผิวที่แข็ง หยาบ และขรุขระ โดยแผลชนิดนี้มักเป็นแผลตื้น ๆ ที่ไม่ทำให้เลือดไหลซึมออกมามากนัก แต่ผู้ป่วยอาจต้องล้างทำความสะอาดแผล และเช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่เกิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- แผลถูกบาด: เป็นแผลตัดที่เกิดจากการถูกของมีคมบาด เช่น มีด หรือเศษแก้ว โดยแผลมักมีเลือดไหลออกมามากและอย่างรวดเร็ว หากแผลถูกบาดลึกอาจรุนแรงจนสร้างความเสียหายแก่กล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นได้
- แผลฉีกขาด: มีลักษณะเป็นแผลตัดลึกและมีผิวหนังฉีกขาดขอบไม่เรียบ มักมีเลือดไหลออกมาอย่างรวดเร็วหรือกระจายเป็นบริเวณกว้าง มักเกิดจากอุบัติเหตุในการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรต่าง ๆ
- แผลถูกแทง: ปากแผลมีลักษณะเป็นช่องขนาดเล็ก เนื่องจากถูกวัตถุปลายแหลมหรือมีความยาวแทงทะลุผิวหนังเข้าไป แม้อาจมีเลือดออกภายนอกไม่มาก แต่อาจสร้างความเสียหายแก่เนื้อเยื่อและอวัยวะภายในได้ เมื่อเกิดแผลลักษณะดังกล่าว แม้แผลจะมีขนาดเล็ก แต่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพื่อให้ตรวจวินิจฉัย และอาจต้องรับวัคซีนป้องกันบาดทะยักและยาป้องกันการติดเชื้อ
- แผลเนื้อเยื่อฉีกขาดจนหลุดออก: เป็นแผลที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อบางส่วนหรือทั้งหมดฉีกขาดจนหลุดออกมา มักเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง ซึ่งเป็นผลทำให้มีเลือดไหลออกมามากอย่างรวดเร็ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น